วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ผัวเจ้าชู้ เพราะเมีย (อย่างเดียว) ?


ผัวเจ้าชู้ เพราะเมีย (อย่างเดียว) ?


ภาพทีเป็นข่าว
ก่อนอื่นนิสิตต้องขอออกตัวเลยว่า ไม่มีความรู้เข้าใจ เกี่ยวกับพระรูปนี้รวมไปถึงวัดหรือนิกายที่พระรูปนี้จำวัดอยู่มากเท่าไรนัก เมื่ออ่านข่าวนี้จบนิสิตก็เกิดความสงสัยว่าในสังคมไทยแม้ว่าจะเข้าสู่ยุค 3G หรือศตวรรษที่ 21 แล้วแต่ใครก็จะเรียกก็ตามแต่ค่านิยมของคนไทยมีอยู่จำนวนไม่น้อย ที่ยังคิดว่าผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง เป็นความคิดที่อยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน การที่พระรูปนี้ได้ออกมาใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้สานุศิษย์หรือผู้ที่สนใจชี้แนะสอนสั่งเรื่องความเป็นสามีภรรยาเช่นนี้มิใช่เรื่องแปลกอะไร (หากเป็นเรื่องทางธรรมที่ดี) แต่การที่ออกมาลงข้อความเช่นนี้ นิสิตมองว่าเป็นเรื่องที่มิค่อยสมควรเท่าไรนัก การกล่าวโทษฝ่ายหญิง เรื่องสามีเจ้าชู้ จริงอยู่พระรูปนี้อาจมีความประสงค์ดีนำเรื่องนี้มาลงไว้เป็นความรู้แก่คนทั่วไปจะนำไปปฏิบัติต่อหรือไม่ทำก็ได้ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

เรื่องความเจ้าชู้ของผู้ชายนั้นจะโทษฝ่ายหญิงเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เมื่ออ่านข้อความที่พระรูปนี้ได้นำมาลงในหน้าเว็บไซด์เฟสบุ๊ค แล้วนิสิตคล้อยตามข้อที่ 1 เช่นนั้นว่า “ผู้ชายเจ้าชู้นั้นอาจไม่ได้เกิดจากนิสัยหรือสันดานส่วนตัว (มีบ้างเป็นบางคน) ที่มีมาแต่กำเนิด แต่มาเจ้าชู้เพราะภรรยาทำหน้าที่บกพร่องอาจมีความเป็นไปได้ แต่เมื่อมาดูข้อ 2 ผู้ชายเจ้าชู้เป็นกรรมของผู้หญิงนั้น นิสิตคิดว่าออกจะไม่ยุติธรรมเลยสำหรับผู้หญิง เรื่องการใช้ชีวิตคู่จะโทษเรื่องบาปบุญเวรกรรมไม่ได้ กรรมนี้ผู้หญิงไม่รู้เลยว่าผู้ชายเป็นคนเจ้าชู้ เลยต้องรับกรรมไป  ความรักต้องเกิดจากทั้งสองฝ่ายต่างต้องยอมรับซึ่งกันและกัน ข้อดีข้อด้อยของแต่ฝ่ายต่างเอามาศึกษา จึงจะอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่ฝ่ายหญิงฝ่ายเดียวที่จะดูผู้ชาย ผู้ชายเองก็ต้องดูผู้หญิง ไม่เช่นนั้นจะมีสุภาษิตที่ว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” ทำไมกัน
ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่
การเป็นภรรยาที่ดีนั้นไม่ยาก ถ้าคิดจะทำ นิสิตขอยกตัวอย่างผู้หญิงที่ขึ้นชื่อเป็น “เมีย”ชั้นเอกของนวนิยายหรือละครที่ผู้หญิงทุกคนควรเอาเป็นแบบอย่าง คือ ดร.วิกันดา ในเรื่องเมียหลวง เป็นตัวอย่าง แม้ว่า ดร.อนิรุทธิ์จะเจ้าชู้เพียงใด ดร.วิกันดาก็สามารถอดทนมาได้เสมอจะให้อรอินทร์หรือ “เมีย”คนไหนๆ มารังควาน ทนมาตลอดจนถึงที่สุด ก็ขอหย่าขาดจากสามีจนได้ เธอเองมิได้ขาดตกบกพร่องในเรื่องของความเป็นศรีภรรยา ในเมื่ออยู่ร่วมกันไม่ได้ก็หย่า ไม่ใช่ต้องทนทุกข์รับสภาพว่านี้เป็นกรรมของตน
ชีวิตของคนแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกันเลย คนหนึ่งมีปัญหาอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งมีปัญหาอย่างหนึ่ง แต่ที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ทุกครอบครัวต้องมีปัญหา ปัญหานั้นจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับที่สองฝ่ายจะก่อสานหรือจะลบทำลาย บางทีจากจุดดำเล็กๆ จุดเดียว ก็อาจกว้างใหญ่ขึ้นกลายเป็นอาณาบริเวณที่ใหญ่โตโอฬารพันลึก ถ้าจะเปรียบกับโรคผิวหนังก็เป็นโรคผิวหนังที่เจ้าของไม่สนใจรักษาและเยียวยาด้วยโอสถอย่างถูกต้องปล่อยจนให้เป็นแผลลุกลามทั่วร่างกายยากแก่การบำบัด แม้ด้วยยาขนานวิเศษที่สุด
 ดร.วิกันดา ตัวละครเอก จากบทประพันธ์ ของ กฤษณา อโศกสิน เรื่อง เมียหลวง
ละคร เมียหลวง
การที่พระรูปนี้ออกมาลงข้อความเช่นนี้ถือว่าผิดหลักพระธรรมวินัยหรือไม่ นิสิตขอกล่าวเทียบเคียงกับภิกษุผู้เป็นเสาหลักอีกรูปหนึ่งของพุทธศาสนาในประเทศไทย ท่านพุทธทาสภิกขุ นิสิตเคยอ่านหนังสือเรื่อง“กามารมณ์และชีวิตสมรสตามอุดมคติพุทธศาสนา” ซึ่งเกี่ยวกับการครองเรือน การใช้ชีวิตคู่ของฆารวาสทั่วไปแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับพระรูปนี้ที่ลงข้อความ หรือแม้แต่เรื่องของกรรมเองก็ต่างไปจากกรรมที่แท้จริงตามความหมายของพุทธศาสนา "กรรม" ไม่ใช่เรื่องไม่ดีตามที่คนทั่วไปเข้าใจ
กรรมที่ถูกต้องนั้นหมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาจะแสดงออกด้วยทางกายก็ตาม วาจาก็ตาม หรือในใจก็ตาม เป็นอดีตก็ตาม ปัจจุบัน อนาคตก็ตาม ดีก็ตามหรือชั่วก็ตาม เป็นกรรมทั้งนั้น
                                                                                                               ( พระพรหมคุณาภรณ์ ( ป.อ. ปยุตโต )

สื่อสังคมออนไลน์มีผู้ติดตามใช้กันได้อย่างทั่วถึงและมีผู้ใช้จำนวนมาก ไม่ว่าจะลงข้อความอะไรก็ตามต้องคิดให้ดีเสียก่อน ยิ่งผู้ลงข้อความมีตำแหน่งการงานหน้าที่สำคัญหรือมีความสามารถเป็นที่จับตามองของสาธารณชนด้วยแล้ว ผลที่ตามมาจะทำให้ผู้ลงข้อความมีผลกระทบตามมาไม่มากก็น้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนลงข้อความหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ลงไปต้องนึกเสมอว่า เรื่องที่เราจะนำมาลง เรามีความรู้มากน้อยแค่ไหน เหมือนดังคำที่นิสิตเคยอ่านผ่านตามา “รู้เป็นร้อย แต่เขียนได้แค่สิบ”หมายความว่า เรื่องที่เรารู้ เรียนมานั้นมากมาย แล้วเรื่องที่เรารู้เข้าใจ ชอบ สามารถทำได้ดีด้วยมีอยู่บางด้านเฉพาะเรื่องเท่านั้น คนเราไม่มีใครมีความสามารถทุกเรื่อง ตำราวิชาการเล่มหนึ่งๆ จะเขียนได้ต้องใช้ความวิริยะ อุตสาหะ ประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ทำตำราเล่มหนึ่งให้สมบูรณ์ขึ้นมาได้ จึงมิใช่เรื่องง่ายเลย

                               
ขอขอบคุณ         http://www.prachatai.com/journal/2013/07/47598


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น